SCBX Unlocking AI: EP.2 New Era of Generative Images

: SCBX Unlocking AI: EP.2 New Era of Generative Images

SCBX Unlocking AI: EP.2 New Era of Generative Images

AI สามารถเป็นพันธมิตรรายสำคัญที่สามารถช่วยคนหัวครีเอทีฟสร้างสรรค์งานที่น่าสนใจได้เพียงปลายนิ้ว และหากใครใช้งานมันอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดล่ะก็ มั่นใจได้ว่าจะเกิดผลที่ดีตามมาแน่นอน

สรุปเนื้อหาจากงาน SCBX UNLOCKING AI: EP2

  • Venue: SCBX NEXT STAGE | 4th Floor, Siam Paragon
  • Collaboration: SCBX และ Getty Images
  • Speakers:
    • คุณฐิติพันธ์ ทับทอง Head of Creative – Brilliant & Million
    • คุณภรณ์ธนา พรประเสริฐ Head of Digital Communication – SANSIRI
    • คุณชลิต ตันติธรรม Senior Business Development Manager – Getty Images
    • คุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด – Founder AD ADDICT

Get into AI, as fun as a Party with Get-ty-AI

คุณฐิติพันธ์ ทับทอง – Head of Creative Brilliant & Million

ในยุคที่ AI พัฒนาไปไกล หลายคนอาจกังวลและเครียดว่ามันจะแย่งงาน ทำให้ผู้คนตกงานหรือไม่ แต่จริงๆ แล้วหากใช้ AI ถูกวิธี มันจะมาพร้อมความสนุก ความมันส์ ความท้าทายที่เปิดโลกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ภาพ

คุณฐิติพันธ์ ทับทอง Head of Creative Brilliant & Million กล่าวในงาน SCBX UNLOCKING AI: EP2 New Era of Generative Images หัวข้อ Get into AI, as fun as a Party with Get-ty-AI ว่า เขาเพิ่งสนใจเรื่อง AI ไม่นานมานี้เอง แต่ทันทีที่ศึกษาจริงจังก็รู้สึกว่า มีเรื่องน่าสนใจและประโยชน์ในการทำงานมากมาย โดยมีบทเรียนน่าสนใจดังต่อไปนี้

1. AI ช่วยให้เวลาคิดภาพ สร้างสรรค์ภาพได้รวดเร็วดั่งใจในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แตกต่างจากในอดีตที่กว่าจะคิด กว่าจะกลั่นกรองออกมาได้ ต้องใช้เวลานานกว่านั้นหลายเท่า และยิ่งใช้งานเยอะ ก็ยิ่งเจอเรื่องสนุกสนานมากมายที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่

2. ในยุคที่การทำงานแบบไฮบริดได้รับความนิยม ศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์ก็สามารถนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับการใช้ AI ได้ด้วยเช่นกัน เรียกว่า H[ai]Brid Co-Workers หมายถึง การไม่ต้องรอข้อความหาข้อมูล รีเสิร์ชก่อนแล้วค่อยเริ่มคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งแปลกใหม่ แต่การทำงานกับ AI ที่มีความรวดเร็ว ช่วยให้เราสามารถรีเสิร์ชและสร้างสรรค์ไปพร้อมกันได้ เป็นไฮบริดซ้อนไฮบริดอีกที

3. คุณฐิติพันธ์ มองว่าทุกอาชีพสามารถใช้งาน AI ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้ เช่น การทำงานสายการเงิน ไฟแนนซ์ ก็ใช้ AI ในการประมวลข้อมูล วิเคราะห์การเงินได้ แต่พอทุกคนสามารถใช้ได้ ก็ต้องระมัดระวังเรื่องเกี่ยวกับข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการละเมิดที่อาจเกิดขึ้นได้

4. กระบวนการลองผิดลองถูกเกิดขึ้นตลอดเวลา AI ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อมาแทนที่มนุษย์ แต่คุณฐิติพันธ์เชื่อว่า คนที่ใช้ AI เป็น จะมาแทนที่คนใช้ AI ไม่เป็น และมากไปกว่านั้น คนที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์อย่างเชี่ยวชาญ จะมาแทนที่คนใช้ AI เฉยๆ อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องไม่หยุดอยู่กับที่ สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ AI มีเยอะแยะเต็มไปหมด ดังนั้นจงลองทำไปเลย แล้วจะสังเคราะห์จนเจอกระบวนการที่ใช่ต่อตัวเอง

5. การจะใช้ AI ให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดความสนุก จะต้องใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง หรือการใช้ Prompt หรือคำสั่งการ AI ยิ่งสามารถ Prompt ได้ละเอียดเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้ได้ผลงานที่ออกมาดั่งใจเท่านั้น

6. สูตรของการสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ (Formula) คือ “a lead character + specific actions + prompt details” แปลง่ายๆ ก็คือ “5W1H” ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่อให้การสร้างสรรค์ภาพผ่าน AI 1 ภาพ สามารถสร้างโลกที่น่าสนใจและเล่าเรื่องราวอันเหนือชั้นออกมาได้

7. จะสั่ง AI ให้สร้างภาพที่น่าสนใจ ต้องอย่าลืมกำหนดตัวละคร กำหนดตัวเอกของเรื่องก่อนว่า เขาเป็นใคร อาจเริ่มต้นจากการหากคนที่มีรูปในอินเทอร์เน็ตเยอะๆ เป็นแบบอย่างให้ AI ได้เรียนรู้ เพราะจะยิ่งทำให้การเรียนรู้ของ AI มีประสิทธิภาพที่สุด และยิ่งสามารถป้อนคำสั่งด้วยความละเอียดเท่าไหร่ AI จะค่อยๆ เรียนรู้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

8. นอกจากมีตัวละครแล้ว สถานที่ก็เป็นสิ่งสำคัญในการเล่าเรื่อง ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าอยากได้สถานที่แบบไหน แสงสีเป็นอย่างไร มู้ดและโทนของภาพเป็นอย่างไร สถานที่นั้นอยู่ภายในหรือภายนอก องค์ประกอบโดยรอบเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีรายละเอียดเยอะ จะยิ่งทำให้เกิดรายละเอียดมากขึ้น และแตกต่างจากผู้อื่น

ทั้งนี้ การใส่ใจในการลงรายละเอียดเยอะ ยังเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ การรอบรู้ การช่างสังเกต เพื่อที่จะได้ป้อนข้อมูลในคีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง น่าสนใจมากขึ้นด้วย

9. การใส่ Prompt เดียวกันในแพลตฟอร์มสร้างภาพแต่ละแพลตฟอร์ม ไมไ่ด้หมายความว่า AI แต่ละแพลตฟอร์มจะประมวลภาพออกมาเหมือนกัน เพราะข้อมูลที่ AI ได้เรียนรู้จะไม่เหมือนกันด้วย

10. การใช้งาน Generative AI อย่าลองใช้แค่เจ้าเดียว แต่ลองเล่นให้เยอะที่สุด ไม่เพียงแค่นั้นจงบูรณาการแนวคิดเกี่ยวกับ AI ออกมา จะทำให้ได้ประสบการณ์ และสกัดสิ่งที่น่าสนใจจากแต่ละแพลตฟอร์มออกมาได้มากที่สุดด้วย เปรียบเทียบแล้วเหมือนเราเป็นดีเจ ที่ไม่ได้เพียงแค่เปิดเพลงไปวันๆ เท่านั้น แต่ยังมิกซ์เพลงแต่ละเพลงให้ออกมาแตกต่าง แปลกไปจากเดิม ซึ่งจะเพิ่มรสชาติ อรรถรส และความน่าสนใจให้เพิ่มขึ้นด้วย

11. อีกบทเรียนที่ค้นพบก็คือ บางที AI ไม่ได้แค่ทำตามคำสั่งเราเท่านั้น แต่ AI ยังเป็นแรงบันดาลใจให้อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นด้วย มั่นใจว่าหากลองเล่นไปเรื่อยๆ แล้วจะเจอกับความสนุกที่ไม่คาดคิดมาก่อนแน่นอน

Intelligent Branding: How SANSIRI Unleash Creativity and Growth with Gen AI

คุณภรณ์ธนา พรประเสริฐ – Head of Digital Communication (แสนสิริ -SANSIRI)

เมื่อเอ่ยชื่อถึงบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของประเทศไทย แสนสิริ จะเป็นชื่อที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นที่ยอมรับว่าบ้าน คอนโด และผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นมีคุณภาพดี คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ซื้อไปมั่นใจได้ว่าอยู่ดีมีสุขอย่างแน่นอน

ในช่วงที่ AI กำลังมาแรง แสนสิริ เป็นหนึ่งในบริษัทที่โอบรับนวัตกรรมดังกล่าวเข้ามาเพื่อยกระดับองค์กรหลายประการ

คุณภรณ์ธนา พรประเสริฐ Head of Digital Communication แสนสิริ อธิบายว่า จากการลองใช้งาน AI นอกจากจะเจอความสำเร็จ ยังได้เจอความผิดพลาดมากมาย จึงอยากแชร์ 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

AI คือโอกาสสำคัญต่อการทำงานขององค์กร

การมาของ AI ช่วยให้สามารถประหยัดเวลาในการทำงานได้มหาศาล และสร้างโอกาสหลายๆ อย่าง เพราะพอทำงานเร็วขึ้น ก็สามารถขายของได้มากขึ้น กระตุ้นยอดขายให้ดีขึ้น เติบโตมากขึ้น และยังช่วยให้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ในเวลาเพียงสั้นๆ ด้วย

นอกจากประหยัดเวลา AI ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำงานได้เยอะมาก แสนสิริ เคยทำโปรโมชั่นแคมเปญหนึ่ง โดยซื้อลิขสิทธิ์ภาพดาราดัง แน็ก – ชาลี ไตรรัตน์ เอามาประมวลเข้ากับ AI แล้วสร้างภาพแบบต่างๆ ออกมาใช้ในโฆษณาได้เลย โดยไม่ต้องออกกองถ่ายทำโฆษณาใหม่ ประหยัดงบค่าโปรดักชั่นได้เยอะ และช่วยให้งานเดินหน้าอย่างรวดเร็ว

AI ช่วย Expand Limitation หรือขยายขอบเขต ลดทอนข้อจำกัดที่เคยมีให้หายไป เช่น พรีเซนเตอร์โฆษณาบางเจ้าปรากฏตัวเยอะแล้ว ซ้ำแล้ว บางทีก็มีผลงานให้บริษัทคู่แข่งไปแล้ว หากจะใช้งานเขาอีกก็คงยาก ดังนั้นก็สร้างพรีเซนเตอร์ขึ้นมาใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะซ้ำ หรือเหมือนกับองค์กรอื่นๆ

เพราะมองเห็นความสำคัญของ AI ทำให้ แสนสิริ ตัดสินใจฟอร์มทีมเพื่อศึกษาการใช้ AI ในการทำงานโดยเฉพาะ เพื่อดูว่างานส่วนต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรได้บ้าง

ผลปรากฏว่า สาย Product Development สามารถใช้ AI ในการออกแบบบ้าน ออกแบบภายใน ภายนอกได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้ลูกค้าเห็นภาพได้ทันทีว่า มู้ดและโทนของบ้านจะเป็นอย่างไร จะตกแต่งแบบไหน ฯลฯ

สายงานการตลาด มักเจอปัญหาว่า ภาพในหัวของฝ่ายจะไม่ตรงกับภาพที่ฝ่ายครีเอทีฟเป็นคนคิด แต่ทันทีที่สร้างภาพด้วย AI จะช่วยทุกคนมองเห็นภาพเหมือนกัน เข้าใจแบบเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้วางแผนงาน ทำ Presentation นำเสนอลูกค้าได้ง่ายขึ้น

ส่วนงาน Data รวมถึงงานเอกสารต่างๆ AI สามารถช่วยร่างงานเอกสารสำคัญ ร่างอีเมล์ตอบกลับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และช่วย HR สแกนผู้ข้อมูลสมัครงานเบื้องต้นได้ว่า คนที่สมัครเข้ามา มีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วนตามที่ต้องการหรือไม่

และงาน Content / PR สามารถขอข้อมูลจาก AI มาสร้างไอเดียเบื้องต้นได้ เช่น ใช้ช่วยคิดแคมเปญการตลาด ช่วยคิดคำ คิด Copywriter ที่น่าสนใจ เตะตา ดึงดูดในเวลาไม่กี่วินาที และที่สำคัญคือ สั่งทีเดียว ได้หลายไอเดียตามมาด้วย

ความท้าทาย ของการเอา AI มาใช้

ความท้าทายข้อแรกคือ Perception & Fear หลายคนกลัวว่า AI จะทำให้ตกงาน โดยเฉพาะคนในทำงานด้านคอนเทนต์ แต่คุณภรณ์ธนามองว่า สาเหตุที่เรากลัว เพราะเราไม่เข้าใจ AI ว่ามันทำงานอย่างไร และยังมาจากความกดดันในการทำงานที่จำเป็นต้องสู้กับ AI ให้ได้ด้วย ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจะยิ่งบันทอนกำลังใจในการทำงาน และศักดิ์ศรีของพนักงานลง

แสนสิริ จะให้กำลังใจพนักงานเสมอว่า อย่ากลัว AI ให้คิดเสียว่า การที่เราสามารถนำ AI มาใช้ประโยชน์ จะช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ทำให้มีเวลาไปหาไอเดีย หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ และยังย้ำด้วยว่า พนักงานของ แสนสิริ จะไม่ถูก AI แทนที่ แต่จะแข็งแกร่งและเก่งขึ้นน

ความท้าทายด้าน Understanding ความไม่เข้าใจ AI เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะคนส่วนมากบนโลกยังไม่มีความรู้เรื่องนี้เท่าที่ควร และมีกำแพงขวางกั้นเยอะแยะเต็มไปหมด จนหลายคนรู้สึกว่าใช้งานยากจนพาลไม่อยากใช้ นอกจากนั้นคนเรายังคาดหวังว่า AI ต้องทำได้ทุกอย่าง แต่พอเจอสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ขึ้นปุ๊บ ก็จะเกิดความกลัวว่า หรือเป็นตัวเราเองใช้งานไม่ถูกต้องกันแน่

ดังนั้น แสนสิริ ก็จำเป็นต้องให้ความรู้พนักงานอยู่เสมอ ค่อยๆ สอน ค่อยๆ บอกว่าต้องใช้งานอย่างไร AI สำคัญอย่างไร ที่ผ่านมายังเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจ และยังมีการทำเวิร์คชอปด้าน AI เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

สำหรับเรื่องที่เป็น Limitation ของ AI ที่เห็นได้ชัดก็คือ ข้อจำกัดด้านภาษาไทย นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ด้านภาพ ทำให้ยิ่งต้องระมัดระวังในการใช้ จะได้ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือละเมิดสิ่งต่างๆ โดยไม่ตั้งใจ

การที่เราเปิดใจใช้ AI จะเป็นโอกาสสำคัญในการนำพาองค์กรให้เติบโต

แน็ก – ชาลี กรณีศึกษาของ แสนสิริ ที่น่าสนใจ

คุณภรณ์ธนา ยกตัวอย่างกรณีใช้ แน็ก – ชาลี ในการทำคีย์วิชวลโปรโมชั่นต่างๆ ว่า Aช่วยให้สามารถสร้าง แน็ก – ชาลี เวอร์ชั่นที่แตกต่างกันได้หลากหลายรูปแบบ แล้วนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของ แสนสิริ ที่มีทั้ง บ้าน ทาวน์โฮม และคอนโด ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นต้น และเสื้อผ้า หน้าผม มู้ด โทน แม้กระทั่งเพศที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ส่งผลให้การทำงานเกิดความน่าสนใจ เกิดมุมมองที่แปลกใหม่มากขึ้นไปด้วย

แต่ที่สำคัญของการอยู่รอดในอนาคตภายหน้าก็คือ ผู้ใช้งาน AI ต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปพร้อมกับ AI ด้วย ทั้งเรียนรู้เรื่องความสมจริง เรียนรู้เรื่องวิธีการใช้งาน เรียนรู้เรื่องวิธีการทำให้ AI เกิดประสิทธิภาพที่สุดอย่างไร ผ่านชุดข้อมูลที่มี อย่าลืมว่าทุกอย่างคือสิ่งใหม่เสมอ ดังนั้นเราต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และนำประสบการณ์ไปปรับใช้เพื่อยกระดับองค์กรต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

From Concept to Creation: Executing Gen AI Solutions for Impactful Results (Panel Discussion)

AI อาจถือเป็นศัตรูของคนทำงานสายครีเอทีฟ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากมองมุมกลับอีกด้านหนึ่ง AI สามารถเป็นพันธมิตรรายสำคัญที่สามารถช่วยคนหัวครีเอทีฟสร้างสรรค์งานที่น่าสนใจได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว และหากใครใช้งานมันอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดล่ะก็ มั่นใจได้ว่าจะเกิดผลที่ดีตามมาแน่นอน

ใน Panel เสวนา From Concept to Creation: Executing Gen AI Solutions for Impactful Results คุณฐิติพันธ์ ทับทอง Head of Creative Brilliant & Million, คุณภรณ์ธนา พรประเสริฐ Head of Digital Communication SANSIRI และคุณชลิต ตันติธรรม Senior Business Development Manager Getty Images ได้ร่วมพูดคุยกันถึงการใช้งาน AI ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยมีคุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด Founder AD ADDICT เป็นผู้ดำเนินรายการ

สำหรับประเด็นน่าสนใจที่คนสายครีเอเตอร์ควรต้องรู้จากการเสวนา มีดังต่อไปนี้

เจาะคำถามคาใจ AI ใช้ทำอะไรได้บ้างกันแน่?

หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ChatGPT ที่เป็นโปรแกรม AI Chatbot ทำให้เกิดภาพจำว่า จริงๆ แล้ว AI ทำงานในฟอร์แมตนี้แบบเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว AI สามารถใช้งานได้หลายอย่างมากกว่านั้น

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องการใช้งาน คุณชลิต อธิบายว่าก่อนใช้งาน AI ผู้ใช้งานต้องรู้ก่อนว่าจะใช้ AI ไปเพื่ออะไร ต้องไม่แห่ไปตามใช้งานเพียงเพราะใครๆ ก็ใช้กัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด

เช่น หากต้องการเขียนอีเมลเพื่อสื่อสารกับลูกค้า เราสามารถใช้ ChatGPT ช่วยร่างข้อความ ช่วยเหลาคำให้มีความเป็นทางการ มีความเป็นมืออาชีพได้ แม้บางทีการใช้งาน AI ให้ทำสิ่งต่างๆ ให้อาจไม่ได้ผลเสมอไป แต่มันก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้ทั้งคนและปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน

ด้านคุณฐิติพันธ์ มองว่า ปัจจุบันในแวดวงการสร้างสรรค์สื่อโฆษณา AI สามารถช่วยงานด้าน Pre Production ได้ครบถ้วนหมดทุกกระบวนการ เช่น การทำสคริปต์ การเขียนสตอรี่บอร์ด ทำมอคอัพฉาก ซึ่งช่วยประหยัดเงิน ประหยัดงบประมาณไปได้มาก แต่ยังต้องระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ของการใช้งานที่อาจไม่คาดคิดว่าเป็นปัญหาด้วย

ส่วนคุณภรณ์ธนา เผยว่าเธอใช้ ChatGPT เป็นหลักในแปลภาษา แก้แกรมม่า รวมถึงการแม้กระทั่งการหาภาพเป็น Reference ที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อใช้ Generative AI แล้ว อย่าเชื่อมันทุกอย่างว่าข้อมูลถูกต้องครบถ้วน แต่ควรตรวจสอบรายละเอียดด้วย เพื่อความสมบูรณ์แบบของงานอย่างแท้จริง

ลิขสิทธิ์กับ AI สู่ดราม่าบนโลกโซเชี่ยล

ไม่นานมานี้มีดราม่าบนโลกออนไลน์เรื่องของลิขสิทธิ์กับ AI โดยเฉพาะในสายงานสร้างสรรค์ ด้วยความกังวลว่า ควรต้องระวังการใช้ AI สร้างสรรค์ภาพอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหาตามมา

คุณภรณ์ธนา แชร์ว่ารู้ว่า SANSIRI ตระหนักถึงประเด็นนี้ดี เพราะ SANSIRI ต้องการใช้งาน AI ที่ไม่ผิดลิขสิทธิ์ หากสิ่งใดที่สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ และจริงอยู่ว่าการใช้ AI ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลายอย่าง แต่หากการใช้ AI แบบถูกลิขสิทธิ์จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็พร้อมจ่าย เพราะหากใช้อย่างถูกต้องก็จะช่วยป้องกันการโดนฟ้อง ที่จะเสียเงินมากกว่านั้นหลายเท่า

ด้านคุณฐิติพันธ์ เชื่อว่า ถ้าเราเป็นคนให้คุณค่ากับคน และงานของผู้อื่น เราจะฉุกคิดได้เองว่าเราควรทำสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งใด ถ้าเราไม่อยากให้ใครขโมยไอเดียเรา เราก็ต้องไม่ขโมยไอเดียใครเหมือนกัน

นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของ AI มันเรียนรู้ภาพต่างๆ แล้ววาดใหม่ จนบางทีมันวาดเก่งจนเกินไป ความเป็นศิลปินเกิดขึ้นเพราะการศึกษางานศิลปะเยอะจนตัวเองรู้ว่าชอบงานสไตล์ไหน และฝึกฝนจนฝีมือแม่นพอ ซึ่ง AI ก็เป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การสั่ง AI ให้เลียนแบบสไตล์งานของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ถ้าต้องการงานเหมือนกับของศิลปินท่านไหน ก็จ้างเขาให้มาช่วยสร้างสรรค์งานเองจะดีกว่า มิฉะนั้นจะเหมือนการจ้างศิลปินโนเนมมาวาดรูปเลียนแบบให้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปไม่ได้

อยากใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพ ต้องอย่าหยุดลองผิดลองถูก

สำหรับคำแนะนำเรื่องการใช้ AI นั้น คุณฐิติพันธ์ แนะนำว่า ให้ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ และลองให้ครอบคลุมที่สุด เพราะเมื่อเรามุ่งมั่นจะลองผิดลองถูก เราจะไม่กลัวความผิดพลาดในการเรียนรู้ การทำงานกับ AI ช่วยให้เรียนรู้จากความผิดพลาดได้เสมอ และเมื่อลองผิดจนหมดแล้ว จากนั้นก็จะได้ลองถูกเอง

ส่วนคุณภรณ์ธนา แนะนำคล้ายกันว่าอย่ากลัวการลองผิดลองถูก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วยว่า AI ทำงานอย่างไร มีข้อดีอย่างไร ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้มากน้อยแค่ไหน และตระหนักเสมอว่า ต่อให้เป็น AI ก็สามารถผิดได้ ดังนั้นตัวเราเองอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้อง และเรียนรู้จากเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่คุณชลิต แนะนำให้ทุกคนลองเปิดใจรับ AI มาเป็นเพื่อน เป็นเครื่องมือในการทำงาน เพราะจะทำให้งานง่ายขึ้น มากกว่าการมองว่าเป็นคู่แข่ง และเมื่อเปิดใจทดลองใช้มันแล้ว จะทำให้เราขวนขวายหาข้อมูลเกี่ยวกับมันเพิ่มขึ้น ทำให้รู้ว่า AI แบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับการทำงานของเรา จนเจอสิ่งที่ใช่ในท้ายที่สุด

วิธีบริหารจัดการทีม กับการใช้งาน AI

แม้ทุกวันนี้คนจำนวนมากจะใช้ AI ในการทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทั้งโลกจะใช้กันหมด แม้กระทั่งการทำงานในทีมเดียวกันเองก็อาจจะมีบางคนที่ยังไม่สนใจจะใช้งานด้วยก็ได้

หากเจอคนในทีมยังไม่สนใจใช้ AI ในการทำงาน คุณฐิติพันธ์ จะลองคุยกับคนในทีมให้เข้าใจก่อนว่า ใช้งาน AI แล้วดีอย่างไร ทั้งนี้ต้องเข้าใจวิธีการทำงาน วิธีการคิดของคนในทีมก่อนว่า แต่ละกลุ่มต้องการอะไรจากการทำงาน จะได้อธิบายถูกว่า AI เอามาใช้ในแต่ละแง่มุมได้อย่างไร

ส่วน ภรณ์ธนา เล่าว่าในน้องๆ ในทีม SANSIRI ติดตามข่าวสารเรื่อง AI และสอนเธอใช้งานด้วยซ้ำ ทำให้ที่ทำงานมีการแชร์กันเสมอ ถือเป็นการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ และยังเป็นการให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานด้วยว่า AI จะไม่ได้มาแทนที่เขา แต่มาทำให้เขาเก่งขึ้น และประหยัดเวลา ให้เขามีเวลาไปทำสิ่งดีๆ สิ่งอื่นด้วย

ด้านคุณชลิต เล่าย้อนว่าครั้งแรกที่รู้ว่า AI ทำได้ขนาดนี้ก็รู้สึกกลัวมากๆ เพราะธุรกิจของ Getty Images จะได้รับผลกระทบตรงๆ แต่พอศึกษาแล้วเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของมัน จะพบว่ามันเป็นคนละสิ่งกับที่ Getty Images ทำเลย และเกิดการนำมาแชร์ในกลุ่มว่า จะทำอย่างไรให้เกิดเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น จะชอบหรือไม่ชอบ AI ก็ได้ แต่ขอให้ลองใช้งานก่อน เพื่อจะได้เรียนรู้และเกิดวิธีการทำงานที่แปลกใหม่ขึ้นมา

เพราะยิ่งเวลาผ่านไป AI จะมีสิ่งใหม่ๆ มากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เริ่มลองเรียนรู้ ลองผิดลองถูกในช่วงนี้ จะถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย และคนที่ลองใช้งานมาตั้งแต่ต้นจะเป็นคนที่ได้เปรียบในการปรับตัวสู่อนาคต

อนาคตของ AI อนาคตของโลก

แม้ AI อาจเพิ่งเริ่มเขย่าโลกอย่าจริงจังไม่นานมานี้ แต่จริงๆ แล้ว AI อยู่รอบตัวเรามานานแล้วโดยที่อาจไม่รู้ตัว แถมมันจะยิ่งทรงพลังมากกว่านี้ในอนาคตด้วย

คุณชลิต เล่าว่าจากการทำงานที่ญี่ปุ่น ค้นพบว่า AI อยู่ทุกที่ ไม่แค่ ChatGPT แต่มันแฝงตัวแบบ Seamless ไร้รอยต่อโดยที่เราไม่รู้ตัว ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ที่สามารถดูแลผู้สูงอายุ มีระบบการจดจำว่า ใครชอบอะไร ไม่ชอบอะไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีทีผ่านมาเท่านั้น แต่ AI เติบโตเร็วมากขนาดนี้ ดังนั้นมั่นใจได้ว่าในอนาคต AI จะยิ่งมาเร็วขึ้น มันจะอยู่กับเราไปตลอดเวลาจริงๆ

คุณฐิติพันธ์ มองคล้ายกันว่า AI จะแทรกซึมเข้ามาแบบ Seamless ต่อให้คุณไม่ใช้งาน ChatGPT แต่ทุกวันนี้ถ้าคุณใช้ Facebook ก็เจออัลกอริทึ่มในการคัดเลือกสิ่งที่ต่างๆ ตามหน้าฟีดโดยไม่รู้ตัว แค่นี้ก็ถือว่าอยู่กับ AI แล้ว และอนาคตมันจะยิ่งแฝงตัวมาอยู่กับเราอย่างแนบเนียนยิ่งขึ้นผ่านรูปแบบของข้อมูล Data ที่จะช่วยมนุษย์ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังมนุษย์ที่ใช้ AI ไปในทางที่ไม่ดี เช่น มิจฉาชีพ ดังนั้นขอเพียงแค่มีความรู้เท่าทันด้านเอไอ จะเป็นเกราะป้องกันชั้นดีในการเอาตัวรอดในอนาคต

สุดท้าย คุณภรณ์ธนา เห็นด้วยว่า AI อยู่รอบตัวเรา จากที่เมื่อก่อนอาจไม่ชัดเจน แต่ทุกวันนี้ชัดเจนขึ้นมาก และเชื่อว่าในอนาคตจะมี AI อีกมากมายเกิดขึ้น จะมีทั้ง AI ที่ใช้งานได้ดีและไม่ดี จะมี AI ที่พัฒนาทันคนกับพัฒนาไม่ทัน ดังนั้น คนใช้ก็ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองเช่นกัน

Live Demo โดย Getty Images

คุณชลิต ตันติธรรม – Senior Business Development Manager (Getty Images)

การเติบโตของ AI เป็นผลให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด คนทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์จะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ จนอาจเรียกได้ว่า นี่คือนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกแห่งการสร้างสรรค์ไปตลอดกาล

การเติบโตของ AI เป็นผลให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด คนทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์จะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ จนอาจเรียกได้ว่า นี่คือนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกแห่งการสร้างสรรค์ไปตลอดกาล

คุณชลิต ตันติธรรม Senior Business Development Manager Getty Images อธิบายในหัวข้อการสัมมนา Revolutionizing Creativity: Trends Challenges, and Thailand’s Gen AI Debut ว่า ในปี 2024 จะมีเทรนด์น่าสนใจหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับ Generative AI ดังต่อไปนี้

  1. เกิดโมเดลใหม่ๆ มากมายที่ช่วยให้งานสร้างสรรค์ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์แบบขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น
  2. เกิดการนำมาใช้ในสายงาน Product and Service Design
  3. บริษัทจะต้องการ Prompt Engineers หรือผู้เชี่ยวชาญในการสั่งงาน AI มากขึ้น เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
  4. เกิดการ Integration ให้ทำงานอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น แบรนด์ออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
  5. จริยธรรมในการใช้เพื่อการค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญ คนใช้ Gen AI จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น
  6. แต่พอ AI กลายเป็นเทรนด์สำคัญ ความกังวลและความท้าทายที่พบเจอก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยในหลายประเด็น
  7. คุณภาพของงานที่ออกมา AI สามารถช่วยให้งานออกมาดีได้จริงหรือไม่ ตอบโจทย์หรือไม่
  8. ประสบการณ์การใช้งาน เอื้อให้ใช้งานอย่างเต็มความสามารถจริงหรือไม่ เพราะบ่อยครั้ง ผู้ใช้งานหลายคนพบว่าการใช้งานยากเกินไป มีศัพท์เทคนิคมากมาย กลายเป็นกำแพงขวางกั้นการใช้งาน
  9. กรณีศึกษาการใช้งานจะเพิ่มมากขึ้น และผู้คนจะนำกรณีตัวอย่างเหล่านี้ไปปรับใช้ตาม
  10. ผู้คนจะสงสัยว่า AI จะส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างไร
  11. ผู้ใช้งานจะมีข้อสงสัยเรื่องกฎหมาย ลิขสิทธิ์มากขึ้น เพราะศิลปิน ผู้สร้างสรรค์อาจใช้เป็นประเด็นในการฟ้องร้องได้ หากนำไปใช้อย่างผิดวิธี

ด้วยกำแพงทางภาษา ที่ส่วนใหญ่ยังมีแต่ภาษาอังกฤษ ทำให้หลายคนลังเลที่จะใช้งาน AI ดังนั้นหากมีไกด์ไลน์ในการใช้งานมากขึ้น จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึง AI มากขึ้นด้วย

จากข้อกังวลทุกข้อที่กล่าวมา คุณชลิตยังเสริมอีกว่ามีหลายคนเคยใช้งาน AI แล้วพบว่ามีความไม่สมจริง บิดเบี้ยว ไม่สามารถเอาไปใช้งานจริงได้ในเชิงการค้า หรือแม้แต่การเอามาใช้ส่วนตัวบนจอมือถือ ภาพที่ออกมาก็อาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดคำถามว่า AI ที่ใช้มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน

และหากแบรนด์ไหนใช้ AI เป็นประจำในการช่วยสร้างสรรค์งานอยู่แล้ว ก็จะพบว่าลูกค้ามักคาดหวังว่า AI จะช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

  1. ความเป็นธรรมชาติ สมจริง Authenticity
  2. ความหลากหลาย Diversity and Inclusion
  3. ความรับผิดชอบต่อสังคมของแบรนด์ จริยธรรม ความยุติธรรม
  4. ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน
  5. อยากเห็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้า คนที่สื่อสารด้วย อยากเห็น Engagement ร่วมกัน
  6. ความเฉพาะตัว Personalization อยากเห็นคอนเทนต์เหมาะสมกับแต่ละคนโดยเฉพาะ

คุณชลิต อธิบายว่า Getty Images ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องที่กล่าวมา โดยเฉพาะคุณภาพของการสร้างสรรค์ และจรรยาบรรณ จึงทำการรีเสิร์ชหลายๆ ด้านเพื่อให้ได้คอนเทนต์ที่เหมาะสม ถูกต้องกับความต้องการแต่ละประเทศ รวมถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด

เช่น ด้าน Creative Insight จะทำให้รู้ว่าควรสื่อสารอย่างไรกับลูกค้า ควรร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ส่วนไหน เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม

Getty Images ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Rights & Protection หรือลิขสิทธิ์ พยายามพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทุกคนนำภาพที่สร้างสรรค์ขึ้นไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง ไร้กังวลในทุกรูปแบบ พยายามมอบบริการที่ดีเพื่อตอบสนองลูกค้า ทั้งภาพ วิดีโอ

และล่าสุดยังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ชื่อว่า Generative AI by Getty Images บริการนี้พยายามผลักดันขอบเขตการสร้างสรรค์ภาพตามจินตนาการให้ก้าวไกลกว่าเดิม โดย NVIDIA Picasso คือพาร์ทเนอร์รายสำคัญที่ช่วยให้ Getty Images สร้างสรรค์ภาพที่สมบูรณ์แบบ และสามารถใช้งานได้จริงในทุกสื่อ ทุกแพลตฟอร์ม

คุณชลิต ยืนยันว่า Generative AI by Getty Images จะไม่เอาภาพที่ผิดลิขสิทธิ์มาใช้งานเด็ดขาด โดยความหมายของภาพผิดลิขสิทธิ์ได้แก่ ภาพจริง เหตุการณ์จริง ดังนั้นหมดกังวลเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน และอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มนี้ Getty Images จะคุ้มครองลิขสิทธิ์ คุ้มครองความเป็นส่วนตัว เพื่อผู้ใช้งาน รวมถึงครีเอเตอร์ ผู้อัปโหลดคอนเทนต์โดยเฉพาะ

ในงานยังมี Live Demo แสดงให้เห็นความพิเศษของแพลตฟอร์มนี้ว่า การสร้างภาพผ่านแพลตฟอร์มจะเป็นอย่างไร มีความสะดวกแค่ไหน ซึ่งคุณชลิต แสดงให้เห็นว่าเราสามารถป้อนข้อมูลของภาพที่อยากให้สร้างสรรค์ด้วยภาษาแบบเดียวกับที่พิมพ์เพื่อค้นหาข้อมูลผ่านใน Google ได้เลย และสามารถดาวน์โหลดภาพแบบคมชัดสูงสุดโดยไม่เสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ตอนนี้ Generative AI by Getty Images อาจยังเป็นเวอร์ชั่น Demo แต่ก็มีความน่าสนใจหลายประการ

คุณชลิตเชิญชวนให้ลองมาเล่น ลองมาสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจได้ตั้งแต่วันนี้ และผลงานการสร้างสรรค์ของทุกคน จะช่วยเปลี่ยนโลกทั้งใบให้สดใสและน่าอยู่ขึ้นกว่าแต่ก่อนแน่นอน

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ