เปิดเส้นทาง “ยานแม่ SCBX” ก้าวสู่ Tech Company

: เปิดเส้นทาง “ยานแม่ SCBX” ก้าวสู่ Tech Company
: เปิดเส้นทาง “ยานแม่ SCBX” ก้าวสู่ Tech Company

เปิดเส้นทาง “ยานแม่ SCBX” ก้าวสู่ Tech Company

“DNA ของ SCBX คือความเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่วัดความสำเร็จจากฐานลูกค้า SCBX จะไม่ใช่แค่ตัวกลาง แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะนำเสนอด้านการเงินเชื่อมกับโลก หากเราตอบโจทย์การเข้าถึงทางการเงิน ตอบโจทย์เรื่องโลกและสิ่งแวดล้อมได้ จะทำให้เกิดการชื่นชมนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ได้รับความชื่นชม (The Most Admired)”

Special Interview : อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 “ธนาคารไทยพาณิชย์” ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญด้วยการประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ยานแม่” โดยเป็นการปรับโครงสร้างจากธนาคารไปสู่บริษัทโฮลดิ้งในนาม “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” (SCBX Group)

ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวออกมาต่อเนื่องตามแผนปรับโครงสร้าง โดยเป็นการวางแนวทางสร้างธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินและแพลตฟอร์มของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ตามที่ประกาศยุทธศาสตร์เอาไว้ ทั้งการเปิดตัวบริษัทใหม่ๆ ในฐานะยานลูกกว่าสิบแห่ง และการเข้าลงทุนที่มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก วันนี้ “เอสซีบี เอกซ์” ก้าวขึ้นสู่ฐานะยานแม่อย่างสมบูรณ์ เมื่อกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจบรรลุตามแผนที่วางเอาไว้

จากนี้ไปจึงได้เวลาที่ยานแม่จะแล่นเข้าสู่วงโคจรใหม่ ตามเป้าหมายการเป็น “บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาค” ที่จะสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีมูลค่าตลาด (Market Cap) 1 ล้านล้านบาท ภายใน 3-5 ปี และสร้างฐานลูกค้าให้ได้ถึง 200 ล้านคน

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า การปรับโครงสร้างองค์กรไปสู่บริษัทเทคโนโลยีสร้างให้เกิด DNA ใหม่ของ SCBX คือ “การกล้าทดลองทำสิ่งใหม่” เพราะการยึดติดอยู่กับความสำเร็จที่มีมายาวนาน จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การดึง DNA ของบริษัทเทคโนโลยีเข้ามา การดึงคนเก่งที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาจะช่วยทำให้องค์กรเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้ และจะมีธุรกิจรูปแบบใหม่พร้อมเข้ามาในธุรกิจการเงิน โดยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าได้มากกว่ารูปแบบเดิม

“ทุกคนเห็นตรงกันว่า การนำเทคโนโลยีมาสร้างรูปแบบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มมูลค่าให้เพิ่มขึ้นได้ในขณะที่ระบบเดิมไม่สามารถทำได้ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างมั่นคง สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในยุคสมัยที่ตนทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบองค์กร มองว่าถ้าไม่ลงเสาหลัก ไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้ ในอนาคตอาจจะไม่มีความพร้อมเพียงพอ และแม้สิ่งที่เริ่มไว้อาจจะไม่ได้สำเร็จได้ภายใน 5 ปีนี้ แต่ก็ยังสามารถส่งให้สานต่อไปในอนาคตได้”

จับ 3 กระแสโลก สร้าง Climate Tech

อาทิตย์กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการจัดโครงสร้างองค์กรสำเร็จสิ่งที่ SCBX มองไปข้างหน้านับจากนี้คือ การเป็นองค์กรธุรกิจที่ดีที่สุด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว ซึ่ง SCBX มองเห็น 3 เรื่องสำคัญที่เป็นกระแสหลักของโลกนับจากนี้ไป คือ

1. รายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน (Income Inequality) ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายของ SCBX ที่จะสร้างการเข้าถึงการเงิน (Financial Inclusion) ผ่านรูปแบบธุรกิจต่างๆ ทั้งดิจิทัลแบงก์ การสร้างแพลตฟอร์ม หรือบริการทางการเงินที่สามารถนำความสามารถของเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้คนที่ไม่เคยใช้บริการธนาคาร หรือเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เพื่อช่วยให้เกิดการสร้างอาชีพหรือดำรงชีพได้ภายใต้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง

“สิ่งที่ SCBX พยายามทำ เริ่มต้นจากโจทย์ที่ต้องการให้คนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงได้ เป็นอีกเป้าหมายนอกจากสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว คือ การดูแลกลุ่มชนชั้นกลางหรือกลุ่มที่มีฐานะ หรือธุรกิจที่ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถดูแลได้ในปัจจุบัน”

2. การบุกเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ (Disruptive Technologies) จากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาในโลกการเงินในหลายรูปแบบ เช่น การนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain เข้ามาในโลกของธุรกิจการเงิน ซึ่งก็แบ่งได้เป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การเข้ามาเพื่อปฏิรูปการทำงานของธุรกิจการเงิน (Evolution) อีกด้านหนึ่งคือ การเข้ามารุกรานธุรกิจเอง (Disruption) โดยจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของ สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิรูปธุรกิจ แต่ถูกมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการเก็งกำไร

“รากฐานของธุรกิจการเงินคือการเป็นตัวกลาง แต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี Blockchain คือการเข้ามาทดแทนตัวกลางในตลาดทุนและตลาดเงิน ทั้งตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน การกู้ยืม โดยเทคโนโลยี Blockchain สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถแทนที่ตัวกลางต่างๆ ด้วยความสามารถที่ทำได้ดีกว่าระบบเดิมตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าเดิม”

3. ความตระหนักในสิ่งแวดล้อม (Environmental Concerns) กระแสของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero เป็นกระแสที่ทุกภาคส่วนกำลังมุ่งไปในทางนี้ ซึ่ง SCBX มีเป้าหมายในเรื่องนี้เช่นกันและมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่

“องค์กรขนาดใหญ่ที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงจนเหลือศูนย์ ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานขององค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้น ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับในแนวทางเดียวกัน เราจะเห็นเทคโนโลยีในด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น จะเห็น Startup ในด้านนี้เกิดอีกมาก ซึ่งเป้าหมายของ SCBX คือการเป็นตัวช่วยที่จะหาแนวทางในด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกให้แก่ธุรกิจ (Global Solution Provider) ทั้งเรื่องระบบการเงินและเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง”

“ค่าเช่าในการเช่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำมาสร้างรายได้ผ่าน Robinhood จะถูกกว่าการต้องซื้อรถเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนในการซ่อมบำรุง และไม่ต้องกังวลว่ามูลค่ารถจะลดลงในระยะยาวด้วย เริ่มแรกการสร้าง Robinhood ไม่ได้มองว่าจะมาถึงตรงนี้ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ Robinhood จะเป็นทั้งการเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าถึงอาชีพมีรายได้ในรูปแบบ Sharing Economy และสามารถเป็น Climate Tech รับกระแสสิ่งแวดล้อมด้วย”

อาทิตย์กล่าวอีกว่า เป้าหมายของกลุ่ม SCBX คือการมุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (Climate Tech) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสที่กำลังมาอย่างแน่นอนในอนาคต โดย SCBX เข้าไปลงทุนใน Rise กองทุนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG โดยเป็นพันธมิตรกับ TPG ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ของโลกด้วยเงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าไปศึกษาในเรื่องของ ESG ซึ่งการเข้าไปร่วมลงทุนจะเป็นวิธีการเรียนรู้ของ SCBX เป็นการลงทุนที่ได้ทั้งเรียนรู้และผลตอบแทน โดยนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาปรับใช้กับองค์กร

อาทิตย์กล่าวด้วยว่า การเปิดโอกาสให้เข้าถึงบริการทางการเงิน และเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็น 2 แกนใหญ่ที่เชื่อมกัน โดย SCBX มีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนทางการเงิน พร้อมกับทำหน้าที่เป็นนักลงทุนและช่วยหาทางเลือกเพื่อให้เกิดการปรับตัวรับกระแสนี้ โดยจะเดินหน้าผ่าน “Robinhood” แพลตฟอร์มส่งอาหารที่กำลังก้าวสู่การเป็น Super App ซึ่งในระยะอันใกล้ Robinhood จะขยับขึ้นเป็นแพลตฟอร์มด้านการขนส่ง โดยได้รับใบอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกมาเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ รถในแพลตฟอร์ม Robinhood มีเป้าหมายจะเป็นรถ EV ทั้งหมดในอนาคต และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพสามารถเช่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มไปขับหารายได้ และจ่ายเป็นค่าเช่า ไม่ต้องไปสร้างหนี้ซื้อรถเป็นของตัวเองในรูปแบบ Subscription ขณะเดียวกัน รถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ส่งอาหารในแพลตฟอร์มของ Robinhood มีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งหมดเช่นกัน

เปิดยุทธศาสตร์เดินเส้นทาง สู่การเป็น Tech Company

อาทิตย์กล่าวอีกว่า เมื่อทำความเข้าใจกับทิศทางของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปใน 3 เรื่องที่สำคัญแล้ว และทำการปรับโครงสร้างองค์กรฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนเรียบร้อยสมบูรณ์ ก้าวต่อไปของกลุ่ม SCBX คือการเดินหน้าสู่บริษัทเทคโนโลยีผ่านยุทธศาสตร์ 3 ระยะตามที่วางเอาไว้ภายใน 5 ปีนับจากนี้

แผนระยะแรก คือ การเตรียมวางโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะใช้เวลาราว 1-2 ปี โดยจะปักหมุดสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้องค์กร ซึ่งได้เริ่มแล้วคือการตั้ง “Center of Excellence” ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีของกลุ่ม SCBX เอง โดยมี 3 เทคโนโลยีที่เน้นหนักคือ Cloud, AI และ Cybersecurity ซึ่งระบบธนาคารมีความเกี่ยวข้องกับ 3 เทคโนโลยีนี้

โดยเฉพาะ Cloud จะเป็นเป้าหมายของกลุ่ม SCBX ที่จะให้เดินธุรกิจบน Cloud เป็นหลัก ส่วนเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ในอนาคตความเสี่ยงทางไซเบอร์อาจจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าความเสี่ยงด้านเครดิต ดังนั้น Center of Excellence จึงทำหน้าที่รวมศูนย์ทางเทคโนโลยีของกลุ่ม SCBX ให้บริษัทในกลุ่มเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ร่วมกัน

“กลุ่ม SCBX มีบริษัทในกลุ่มหลายแห่ง และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ธุรกิจที่ตั้งใหม่อาจจะไม่มีความพร้อมในการลงทุนทางเทคโนโลยีเอง แต่ Center of Excellence จะเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีและช่วยสร้างความปลอดภัย อีกทั้งบริษัทในกลุ่มเชื่อมโยงกันหมด การถูกโจมตีทางไซเบอร์อาจจะไม่ได้เจาะจงที่ธนาคารโดยตรง แต่อาจจะโจมตีจากบริษัทอื่นที่มีความอ่อนแอทะลวงเข้ามาในระบบได้ ซึ่งนี่คือความตั้งใจที่จะปกป้องความมั่งคงทางไซเบอร์ของกลุ่ม SCBX”

อาทิตย์กล่าวอีกว่า การจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้นั้น การทดลองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่การจะทดลองในเรื่องใหม่อาจจะสร้างความกังวลให้กับผู้กำกับดูแล ซึ่งการทดลองเรื่องใหม่ต้องทำให้ผู้กำกับดูแลเกิดความสบายใจด้วยว่า ความเสียหายจากการทดลองจะเกิดในวงจำกัด ซึ่ง กลุ่ม SCBX มีแผนที่จะสร้าง Innovation Lab ในต่างประเทศและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีงานวิจัยทดลองในเชิงลึกโดยเฉพาะเรื่องที่ SCBX สนใจ เพื่อนำสิ่งที่ได้จากการทดลองมาประยุกต์กับธุรกิจ

แผนระยะที่สอง คือ การขยายการเติบโต โดยนำขีดความสามารถใหม่ที่สร้างในแผนระยะแรกมาช่วยผนึกให้ธุรกิจในกลุ่ม SCBX ต่างๆ สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น โดยแผนระยะที่สองจะใช้เวลา 3-4 ปี

ทั้งนี้ ธุรกิจในกลุ่ม SCBX สามารถแบ่งออกเป็น 3 GEN โดยใน Gen 1 จะเป็นธุรกิจที่เป็นบริการด้านธนาคารเป็นหลัก คือ

  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ (บลจ.)
  • ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งโดย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด
  • ธุรกิจด้านประกัน โดย บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด

ส่วนธุรกิจในกลุ่ม GEN 2 บริการด้านการเงินส่วนบุคคล และบริการด้านการเงินดิจิทัล ประกอบด้วย

  • CardX บริษัทด้านธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล
  • AutoX ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อที่มีหลักประกัน
  • AlphaX บริษัทร่วมทุนกับ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) ทำธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง กลุ่มรถ หรู
  • SCB Abacus แอปพลิเคชั่น Money Thunder ใช้เทคโนโลยี AI ในการปล่อยสินเชื่อ
  • MONIX บริษัทร่วมทุนทำสินเชื่อ Digital Lending ในชื่อ “FINNIX”

ธุรกิจ GEN 3 เป็นธุรกิจด้านแพลตฟอร์มและบริการด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย

  • บริษัทหลักทรัพย์ InnovestX (บล.) ที่เพิ่งเปิดตัว Super App ด้านการลงทุนครบวงจร มีเป้าหมายทำ IPO ภายใน 3 ปี
  • SCB 10X บริษัทเรือธงลงทุนด้านเทคโนโลยี
  • Robinhood แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ ที่มีเป้าหมายเป็น Super App
  • Digital Ventures บริษัทผู้สร้างนวัตกรรมทางการเงิน
  • TokenX ผู้ให้บริการทางด้าน ICO Portal และ Tokenization
  • SCB TechX บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีพัฒนา Platform และ Solution
  • DataX บริษัทด้านวิเคราะห์ข้อมูล

“DNA ของ SCBX คือความเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่วัดความสำเร็จจากฐานลูกค้า SCBX จะไม่ใช่แค่ตัวกลาง แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอด้านการเงินเชื่อมกับโลก หากเราตอบโจทย์การเข้าถึงทางการเงิน ตอบโจทย์เรื่องโลกและสิ่งแวดล้อมได้ จะทำให้เกิดการชื่นชมนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ได้รับความชื่นชม (The Most Admired)”

แผนระยะที่สาม คือ เห็นมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งจะอยู่ในช่วงปีที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผน 5 ปีของ SCBX ที่ตอนนี้แต่ละบริษัทในกลุ่มเดินหน้าทำธุรกิจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอให้แต่ละบริษัททำธุรกิจโดยคำนึงถึงความมั่นคง มีวินัยและเลือกการลงทุนในสิ่งที่คิดว่าจะทำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้สิ่งที่ลูกค้าชอบใจแล้วธุรกิจจะอยู่ได้อย่างแข็งแรง

อย่างไรก็ดี หากธุรกิจแต่ละบริษัทในกลุ่ม SCBX สามารถเดินหน้าได้ด้วยดี มั่นใจว่าจะสามารถเดินต่อไปได้จนกว่าจะเจอกระแสคุกคามจากเทคโนโลยีครั้งใหม่ และหากอนาคตต้องเจอการเปลี่ยนแปลงก็จะมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่วางขนานเอาไว้คอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง

“เป้าหมาย 5 ปีของแผนทั้งสามระยะคือ การที่ SCBX เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่มีมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านบาท และมีลูกค้า 200 ล้านคน โดยที่ธุรกิจในกลุ่มจะสามารถระดมทุนเพิ่มขึ้นหรือเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ หรือสามารถก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มระดับยูนิคอร์น”

ไม่ถอย “สินทรัพย์ดิจิทัล” กางแผนสร้างกลไกตลาด

อาทิตย์กล่าวอีกว่า ส่วนอนาคตอีกเรื่องที่ SCBX จะเดินต่อคือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงที่ผ่านมา แต่ SCBX จะไม่ถอยในเรื่องนี้แน่นอน โดยยังคงเดินหน้าต่อไปเพราะมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องกระแสหลักของโลกและมีผู้คนทั่วโลกสนใจในเรื่องนี้ แม้ว่าจะถูกมองในเรื่องเก็งกำไร

อย่างไรก็ดี การจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาในโลกตลาดทุน (Capital Market) จะต้องสร้างองค์ประกอบให้เป็นตลาดทุนที่ครบถ้วน คือ มีทั้งตลาดแรกนั่นคือ ICO Portal ที่จะทำหน้าที่ออกสินทรัพย์เหมือนกับการทำ IPO ในตลาดหุ้นและต้องมีกระดานซื้อขาย (Exchange) เป็นตลาดรองไม่ต่างกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน โดยทั้งตลาดแรกตลาดรองอยู่คู่กันมีความสัมพันธ์กันหากกระดานซื้อขายไม่มีสภาพคล่องก็ไม่สามารถจะกำหนดราคาในการเสนอขายได้ นอกจากนี้ ยังต้องมี ศูนย์ฝากหลักทรัพย์ (Custody) และต้องมีผู้ทำหน้าที่นายหน้าหลักทรัพย์ (Broker) ที่เป็นหนึ่งในกลไกของตลาดทุนด้วย

ขณะนี้ SCBX กำลังสร้างองค์ประกอบของตลาดทุนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีใบอนุญาต ICO Portal คือ TokenX และ มีใบอนุญาตนายหน้า (Broker) คือ InnovestX ที่ได้อีกใบอนุญาตคือ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ (Exchange) นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนใน Fireblocks แพลตฟอร์ม Crypto Custody ไปแล้ว

“การจะเดินหน้าในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องเตรียมความพร้อมอีกระยะ ส่วนจะต้องมีการหาพันธมิตรเพิ่มหรือซื้อกิจการอีกหรือไม่นั้นล้วนอยู่ในแผน ทั้งนี้ ทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยก็ต้องรอความพร้อม หากผ่านไปอีก 2 ปีข้างหน้า ผลออกมาว่าเรื่องนี้ยังไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย SCBX ก็ต้องเคารพกติกาเป็นสำคัญ โดยอาจจะออกไปทำในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศก็ได้ ซึ่งมีหลายแนวทาง”

อ้างอิง :
บทสัมภาษณ์คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ในวารสารการเงินธนาคารฉบับที่ 487 เดือนพฤศจิกายน 2565

More Insights for you

Stay up to date with our latest content

More Insights for you

Stay up to date with our latest content