“Journey to Transform” โดย คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX

: “Journey to Transform” โดย คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX

“Journey to Transform” โดย คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX

เนื้อหาจากงาน Exclusive Dinner Talk ก้าวสู่ปีที่ 47 ประชาชาติธุรกิจ “Journey to Transform” โดย คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX

“เปลี่ยน… ก่อนถูกเปลี่ยน”

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพาคณะกรรมการของ SCBX และคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเราทำแบบนี้ทุกๆ ปี โดยวัตถุประสงค์ในการไปครั้งนี้ คือ พาคณะกรรมการไปเจอกับบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของ Generative AI ไปพบกับบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของ Cybersecurity และไปพบบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่อง Climate Technology เป็นเวลาประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน CEO Summit ที่ทาง Microsoft จัดต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาประมาณ 20 กว่าปี

ที่งาน CEO Summit ทาง Microsoft จะเชิญ CEO จากทั่วโลกในทุก industry ไปที่ Redmond, Seattle ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม โดยงานในครั้งนี้จัดขึ้น 2 วัน วันแรกโฟกัสเรื่องของ Generative AI, Cybersecurity และ Climate ซึ่งตรงกับเรื่องที่ทาง SCBX ตั้งใจทำ ทาง Microsoft ได้เชิญ Sam Altman CEO ของ OpenAI มาพูดเรื่องของ OpenAI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft นอกจากนี้ Bill Gate ได้มาพูดเกี่ยวกับเรื่องของ Responsible AI ให้ CEO จากทั่วโลกได้ฟังอีกด้วย

เช้าวันที่สอง Satya Nadella CEO, Microsoft ได้มา demo ประมาณ 30 นาที ถึงสิ่งที่ Microsoft กำลังจะนำ Generative AI เข้ามา ซึ่งหลังการ demo นั้น CEO ที่เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ยกมือถามและบอกกับ Satya ว่าช่วยแนะนำหน่อยว่าต่อจากนี้เราจะเป็น CEO จะ lead องค์กรจากการที่เขาเห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยขีดความสามารถอย่างที่เกินจินตนาการ ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เราจะกลับไปจะไปพูดกับ CTO อย่างไร เราควรจะไปวางแผนในการที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างไร

ซึ่งประโยคหนึ่งที่ CEO ของ Microsoft ตอบกลับมาคือ “พวกคุณรู้ไหมว่า พวกคุณไป recruit หรือพยายามไป recruit Data Scientist ที่วันนี้พวกคุณมีกันเยอะและอาจจะคิดว่านั่นคือ asset ใครมีเยอะคนนั้นเจ๋ง แต่ไม่เกินสองปีข้างหน้ากลุ่มนี้ถ้าคุณ Manage ไม่ดีจะกลายเป็น liabilities ของบริษัท”

เหล่า CEO ที่อยู่ในงานตอนแรกก็พากันสงสัยว่าทำไม ซึ่ง Satya อธิบายต่อไปว่าภายในอีกสองปีข้างหน้า 75%ของแอปพลิเคชันใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็น “No Code” ที่แปลว่า “No Coding” แปลว่าเราไม่จำเป็นต้องอาศัย Data Scientist ในการทำ Code แล้ว โดย Satya สาธิตให้ดูว่าต่อไปคนที่จะทำ Code ไม่มี จะมีแต่ Designer มีแต่ Product Owner ที่รู้เรื่องว่าอยากจะทำอะไร แล้วสั่งลงไปซึ่งเดี๋ยวมันก็จะกลายเป็น Code มาให้คุณเอง

ลองคิดดูว่า CEO ที่ขณะนี้กำลังตั้งหน้าตั้งตา Recruit Data Scientist ก่อนเดินทางไปร่วมงานครั้งนี้ ยังอยู่ใน paradigm แบบหนึ่ง แต่พอไปถึงที่นั่น กลายเป็นว่าเราจะต้องปรับปรุง ซึ่งนี่ก็เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากให้เห็นถึง magnitude ของสิ่งที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงหลายอย่างเป็น upside down ซึ่งสิ่งนั้นมันคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงการคาดการณ์ถึงผลกระทบของเรื่อง Climate Change ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ลำพังแค่ 50 Giga Tons ที่กลุ่ม SCBX จะต้องจัดการ แล้วจะไปถึง Net Zero ในปี 2050 พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ ทำอย่างไรเราถึงจะได้เห็นสิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นที่จะเป็น threat ต่อทั้งในเชิงของ macro คือ ภาพของประเทศ และในเชิงของอุตสาหกรรม ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น Geopolitics หรืออะไรต่างๆ

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญ โดยหลายเรื่องอยู่ห่างไกลจากการเข้าถึงหรือตระหนักของเรา ซึ่งเป็นโจทย์ของผู้บริหารทุกองค์กรว่า แล้วเราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร การที่จะไปเริ่มต้นบอกว่า Transformation คำถามผมคือ Transform ไปเป็นอะไร? เราเคยตั้งคำถามไหมครับว่า สิ่งที่พูดกันเป็นศัพท์ยอดฮิต เป็นหัวข้อในวันนี้ ตกลงเรา Transform กันอย่างไร?

ตอนที่เราเปลี่ยนจาก ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ มาเป็น ‘กลุ่ม SCBX’ ผมต้องพยายามตีโจทย์ให้แตกแล้วก็บอกกับ stakeholder ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น บอร์ดบริหาร พนักงาน รวมถึงลูกค้า สิ่งที่คิดว่าตีแตกแล้วหลายๆ เรื่องต้องปรับเปลี่ยน ต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนว่าสิ่งที่เราคิดมันอาจจะไม่ถูกต้องแล้วทำอย่างไรเราถึงจะสามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงแบบที่หลายท่านเคยใช้ศัพท์ว่า ‘Never Normal’ คือมันไม่มีคำว่า ‘New Normal’ ด้วยซ้ำ เพราะว่ามันจะเปลี่ยนไปอย่างไม่จบสิ้น

เราเริ่มต้นจากการเซ็ต Mission จากการที่จะบอกและสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรทราบว่าองค์กรเราจะเปลี่ยนแปลง จากนั้นสิ่งที่เราพยายามบอกว่าตัวตนของเรานั้น เมื่อเราเชื่อว่าเราเคยเป็นแบงก์และการเป็นแบงก์อย่างเดียวมันไม่น่าจะมีความสามารถในการแข่งขันหรือตอบสนองในสิ่งที่ลูกค้าต้องการภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป SCBX จึงได้เซ็ต Pain Point 3 เรื่องของกลุ่ม คือ

  1. เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของเรื่อง Income Inequality
  2. เราเชื่อว่า Disruptive Technology ที่จะเปลี่ยนแปลง Financial Landscape ไม่ว่าจะเป็น Blockchain หรือ AI
  3. เราเชื่อว่าเรื่องของ Climate จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาค SME

ทำอย่างไร SCBX จะเกาะอยู่ใน 3 Theme นี้ แล้วก็สร้าง แล้วก็ transform Capability ขององค์กรเพื่อจะสามารถทำธุรกิจตอบสนองกับ Paint Point ใหญ่ของโลก นั่นคือสิ่งที่เราเริ่มต้น Journey ของเรา และเราก็บอกผู้ถือหุ้น บอร์ดบริหาร พนักงาน และลูกค้าของเรา ซึ่งฉันทามติแรกของเราเมื่อเราไปบอกผู้ถือหุ้นให้เข้าใจดีพอ เราก็ได้รับการโหวตเพื่อให้เกิด SCBX แปลว่าต่อจากนี้ไปเงินกำไรที่ได้มาจากแบงก์คุณไม่ต้องส่งให้ฉันหมดคุณได้สิทธิ์เอาไปขยายธุรกิจต่อที่ SCBX ใน 3 Theme นี้ที่เราจะทำ

เมื่อเราสร้างความเข้าใจว่าเราต้องตอบเรื่องของ What Why และ How สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้ไป คือ เราจะพบว่าไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับภาคเอกชนการพูดถึง Conceptual ว่าเราต้องเปลี่ยน เราต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นมิติหนึ่ง แต่พอถึงเวลาที่เป็นเรื่องของ Implementation เรื่องของ Execution ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Transformation นั้น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้ทำนั้น การจะสร้าง Clarity ให้เกิดขึ้นในองค์กรโดยเฉพาะในเรื่องของ What ในเรื่องของ How ว่าทำให้พวกเขารู้ว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง Transformation อย่างไร

ตัวอย่างของกลุ่ม SCBX คำว่า Transform นั้นไม่ได้แปลว่าต้อง transform ทุกอย่าง และไม่ได้แปลว่าต้อง transform อย่างรวดเร็ว และไม่ได้หมายความว่าต้อง transform ได้ 100% ถ้าไม่ได้จะไม่ทำ เราเห็นเลยว่าของที่ดีอยู่ที่มีอยู่แล้วและจะ preserve ไว้ก็คือ ‘แบงก์’ ธนาคารไทยพาณิชย์จะไม่กลายเป็น Fintech จะไม่กลายเป็นสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น แต่จะเป็น ‘ธนาคารที่ดีขึ้น’ จะเป็นธนาคารที่แข็งแรง

ส่วนที่เราจะ transform ส่วนที่เราจะออกไปรับความเสี่ยง เพราะ Transformation คือ การ Take Risk สำหรับองค์กรทุกองค์กร การพูดคือสิ่งที่ง่ายมาก แต่พอเริ่มทำจริงผู้ถือหุ้นและบอร์ดบริหารจะเริ่มตระหนักได้ว่าเรากำลังจะ Take Risk ในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แล้วทำอย่างไรจะตอบโจทย์เรื่องนี้ว่า เมื่อคุณจะต้อง Take Risk ในสิ่งที่คุณไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดจะสามารถจสบายใจและรู้ว่าการกำหนด pace ของคุณ อันไหนที่ต้องอดทน อันไหนที่ต้องรอ อันไหนที่ต้องเปลี่ยนที่ Foundation อันไหนเป็นปมแรกที่ต้องดึงให้ขาด Foundation ที่ต้องสร้างให้เกิด อันไหนอย่าไปแตะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องดีไซน์ให้เกิด Roadmap ให้เกิดแผนของการ Execution อย่างชัดเจน แล้วเมื่อสร้างการมีส่วนร่วมและบทบาทที่ชัดเจนของคนในองค์กร เราจะเห็นการที่องค์กรมี Goodwill ที่จะขยับเขยื้อน

ผมอยากจะแชร์กับทุกท่านว่าในวันแรกที่ผมอยากจะทำเรื่อง Transformation คนในแบงก์อาจจะเกลียดผมไปเลย เพราะคิดว่าแบงก์จะไม่ได้กลายเป็นแบงก์ที่เซ็กซี่ ไม่ได้กลายเป็นแบงก์ที่จะทำสิ่งต่างๆ มากมาย แต่วันนี้เขารู้ว่าบทบาทที่แต่ละคนที่ต้องเล่นภายใต้การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่นั้น มีบทบาทที่แตกต่างกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า Conceptual หรือ Strategy เทียบกับ Implementation แล้วนั้น ที่ผ่านมาการคิดในสิ่งต่างๆ ไม่ได้ยากมาก

แต่ความคิดต่างๆ ของเราจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเพราะโลกก็เปลี่ยนแปลงไป แต่วิธีที่จะวางแผนอย่างไรให้เราบาลานซ์ความเสี่ยงของความไม่แน่นอน แล้วยังสามารถมีความแน่นอนภายใต้การ adopt เรื่องของ Transformation เป็นเทคนิคที่จะต้องอาศัยการอดทน อาศัยการสื่อสาร อาศัยการทำความเข้าใจต่อคนที่อยู่ในสังคมหรืออยู่ในองค์กรเดียวกันกับเรา แล้วรู้จังหวะอันไหนต้องหนัก อันไหนต้องเร็ว อันไหนต้องช้า แล้วอันไหนต้อง compromise สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่อยากจะแชร์ให้กับทุกท่านได้รับรู้ครับ

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ