McKinsey ชี้โอกาสของประเทศไทย ในการบรรลุ Net Zero

: McKinsey ชี้โอกาสของประเทศไทย ในการบรรลุ Net Zero

McKinsey ชี้โอกาสของประเทศไทย ในการบรรลุ Net Zero

ในงานสัมมนาซีรีส์ SCBX Reimagining Climate

Key Highlights

โอกาสของไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด: ประเทศไทยมีโอกาสคว้าประโยชน์จากกระแสโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
การสร้างอนาคตที่ไร้คาร์บอน: ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้ารายใหญ่สำหรับอนาคตที่ไร้คาร์บอนได้ โดยอาศัยการนำระบบพลังงานสะอาดและนวัตกรรมมาใช้
ความยั่งยืนคือกุญแจสำคัญสู่การเป็นผู้นำ: ประเทศไทยต้องริเริ่ม ความยั่งยืนอย่างจริงจังเพื่อป้องกันตนเองจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

นายวิชาล อากาวาล (Vishal Agarwal) Senior Partner and Leader, Energy & Environment Sustainability Asia บริษัท McKinsey & Company
กล่าวในงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition ซึ่งจัดขึ้นที่ SCBX NEXT TECH ว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านระดับโลกไปสู่พลังงานสะอาดและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างฉับไวและประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

ขณะนี้ โลกยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศที่ 1.5°C ได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากจะเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งแล้ว ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้อีกด้วย โดยคาดว่าจะมีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่อปีสูงถึง 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก

นายวิชาลอธิบายว่า ความท้าทายนั้นอยู่ที่การจัดการกับความท้าทาย 4 ด้าน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำราคาที่จับต้องได้ ความมั่นคงด้านพลังงาน และการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมๆ กัน โดยชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีความก้าวหน้าอย่างมากในหลายๆ ภาคส่วน โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานนี้ คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่าง ๆ ก็ยังคงมีโอกาสที่ดีอยู่ บริษัทชั้นนำหลายแห่งกำลังใช้แนวทางสองด้านในการเล่นเกมรุกโดยใช้วิธีแบบคู่ขนาน หรือ ‘AND’ playbooks เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันโดยมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและสร้างมูลค่าผ่านการสร้างธุรกิจ

ความเปราะบางของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการรับมือเชิงรุก นายวิชาลประมาณการว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000-3,500 ล้านดอลลาร์ต่อปีหรือคิดเป็น 0.4–0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับการกำหนดกลยุทธ์การลดผลกระทบและการปรับตัว

การเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่การผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำนำมาซึ่งโอกาสที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งหนึ่ง มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) กระตุ้นให้เกิดการผลิตด้วยวิธีที่สะอาดมากขึ้น หากประเทศไทยหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าและนวัตกรรม ก็จะสามารถกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่สำหรับอนาคตที่ไร้คาร์บอนได้

อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันประเทศไทยสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากประเทศจีนมาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (10%) โดยเป็นส่วนแบ่งจากจากการค้าที่เคลื่อนย้ายออกจากจีน และพลังงานสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน

แนวทางปฏิบัติในการผลิตที่สะอาดยิ่งขึ้นอาจสร้างคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับสินค้าไทย และจะผลักดันความต้องการส่วนประกอบและระบบของไทยในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม อาคาร และการคมนาคมนอกจากนี้ในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ ประเทศไทยยังสามารถสร้างเม็ดเงินจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการนำแนวทางการเกษตรที่ยั่งยืนมาปรับใช้ เช่น การจัดการคาร์บอนในดินและการผลิตโปรตีนทางเลือก

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนสูงจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และความสามารถในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ในขณะเดียวกันภาคการคมนาคมก็พร้อมก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนโยบาย “30/30” ที่มุ่งหวังให้มีสัดส่วนของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 30% ภายในปี 2573 สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญของประเทศไทยก็สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการดิน การทำเกษตรอัจฉริยะ และโปรตีนทางเลือกเพื่อให้บรรลุการเติบโตที่ยั่งยืน

นายวิชาลเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่บริษัทและผู้นำของไทยจะต้องคว้าโอกาสและมีบทบาทในการกำหนดอนาคตสีเขียวของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือปฏิบัติ โดยต้องมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านและการปรับตัว หากประเทศไทยหันมายึดถือแนวทางความยั่งยืนอย่างจริงจัง นอกจากจะสามารถป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเส้นทางสู่การเปลี่ยนผ่าน Net Zero อีกด้วย

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ