ส่องแนวทางการ Go ‘Net Zero’ with SCB เพื่อมองหาแนวคิดปั้นธุรกิจให้โตอย่างยั่งยืน

: ส่องแนวทางการ Go ‘Net Zero’ with SCB เพื่อมองหาแนวคิดปั้นธุรกิจให้โตอย่างยั่งยืน

ส่องแนวทางการ Go ‘Net Zero’ with SCB เพื่อมองหาแนวคิดปั้นธุรกิจให้โตอย่างยั่งยืน

เมื่อ Net Zero คือหนึ่งในทางรอดของมนุษยชาติ ทางรอดในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบเดิมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากไปกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจและให้ความสำคัญ

ภาพรวมของเนื้อหา

จะเกิดอะไรขึ้นหากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกร้อนขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส?

นี่คือคำถามที่ ปรเมศร์ รักการงาน Sustainability Strategic Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถามผู้ที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปในหัวข้อ Go ‘Net Zero’ with SCB ในงาน Techsauce Global Summit 2023 ที่ผ่านมา

“เพียง 0.5 องศาเซลเซียส จะทำให้พืชและแมลงอีกหลากหลายสายพันธุ์สูญพันธุ์มากขึ้น 3 เท่า น้ำแข็งทั่วโลกละลายเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ปรเมศร์กล่าว พร้อมโชว์กราฟที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงปี 1950 ซึ่งเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุควิกฤตในช่วงปี 2000-2020 เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส!

เมื่อ Net Zero คือหนึ่งในทางรอดของมนุษยชาติ ทางรอดในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบเดิมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากไปกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจและให้ความสำคัญ

ปรเมศร์กางข้อมูลจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 8 เท่าในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อวิกฤตโลกร้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ “ยิ่งประชากรเพิ่ม ปริมาณการบริโภคก็พุ่งตามเป็นเท่าตัว

“พฤติกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4 หมื่นล้านตันต่อปี มันเป็นปริมาณที่มหาศาลมาก ลองสังเกตดูก็ได้ว่าจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มมากขึ้นและวันที่อากาศเย็นน้อยลง และมันไม่ใช่แค่คุณรู้สึกว่าอากาศร้อนกว่าเดิม แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น”

ถ้ายังจำกันได้ ปี 2003 คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนในปารีสมากถึง 14,802 ราย และนับจากนั้นเป็นต้นมา ข่าวภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า ก็ทวีความรุนแรงและเพิ่มความถี่ของการเกิดภัยร้ายมากขึ้น

“ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ความร้อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ถ้ายังนิ่งนอนใจเราอาจต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตขาดแคลนอาหาร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลนทั่วโลก” ปรเมศร์กล่าว

จะแก้ด้วยการยกเลิกการทำอุตสาหกรรมหรือทุกกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนคงไม่ได้ แต่ต้องพึ่งพาการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศไปกักเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยการดักจับโดยตรงและนำไปกักเก็บในหลุมน้ำมันเก่า หรือหลุมใต้ดิน เป็นต้น

อาจสรุปได้ว่า ‘Net Zero’ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะ ‘สมดุล’ กับการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ปรเมศร์บอกว่าพันธกิจระดับโลกนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 ทั่วโลกร่วมลงนามใน ‘ความตกลงปารีส’ (The Paris Agreement) ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

“ประเทศไทยตั้งเป้า Net Zero ในปี 2065 จะเห็นว่าองค์กรและหน่วยงานมากมายเริ่มออกมาประกาศเป้าหมายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดคาร์บอน เช่นเดียวกัน SCB ก็เป็นหนึ่งในนั้น”

ปรเมศร์อธิบายถึงผลกระทบทุกมิติที่ผู้ประกอบการจะได้รับ หากวันนี้ยังไม่เริ่มปรับเปลี่ยนจะส่งผลเสียอย่างไร หรือหากเริ่มต้นลงมือทำตอนนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับความยั่งยืนของธุรกิจ

ภาพประกอบด้านบนคือสไลด์ที่ปรเมศร์เผยให้เห็นว่า ปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Renewable Energy Consumption 100% (RE100) เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้พลังงาน Renewable Energy 100% ในการผลิตและการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้ซัพพลายเชนและซัพพลายเออร์ของบริษัทเหล่านี้ใช้ Renewable Energy 100% ด้วย

ประเด็นต่อมาคือเรื่องของ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือกลไกการเพิ่มภาษี เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างสมดุลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตในและนอกสหภาพยุโรปให้เท่ากัน

“เนื่องจากสหภาพยุโรปมี Emissions Trading System (ETS) หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง โดยกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐานให้กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ทำให้คนหันไปผลิตนอกสหภาพยุโรปและส่งกลับมาขาย เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ลดต้นทุน CBAM จึงเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป โดยกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป”

โดยสินค้า 5 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม ปัจจุบันราคาภาษีคาร์บอนในยุโรปปรับขึ้นมาแตะ 100 ยูโรแล้ว

“ประเทศไทยเรามี Thailand Taxonomy มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยจัดกลุ่มเป็นหมวดสีเขียว เหลือง แดง ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ต่อให้คุณผลิตสินค้าที่ดีแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะถูกจัดให้อยู่ในหมวดสีแดง เป้าหมายหลักเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันครอบคลุม 2 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง คาดการณ์ว่าลำดับต่อไปจะโฟกัสไปที่ภาคการผลิตทั้งหมดและภาคการเกษตร

“ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับเรื่อง Thailand Taxonomy แต่ในอนาคตจะมีต้นทุนมากดดัน ธุรกิจที่สามารถทำตามได้ก็จะมีแรงจูงใจ เช่น Green Finance เข้ามาซัพพอร์ต ทำให้ต้นทุนการดำเนินการถูกลง ที่แน่ๆ ภาคการธนาคารจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น ช่วยเหลือ SMEs ในการเปลี่ยนถ่ายมาเป็น Low Carbon Economy”

ปรเมศร์ยังแนะว่าสิ่งที่ธุรกิจต้องเริ่มให้ความสำคัญคือ ‘การเปิดเผยข้อมูล’ 

“ใครอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกกำกับโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. อยู่แล้ว แต่สำหรับธุรกิจอื่นๆ ก่อนหน้านี้มี International Standard มาช่วยเป็นไกด์ไลน์ให้ผู้ประกอบการได้เปิดเผยข้อมูลว่าเรามีอะไรและยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง ซึ่งเรตติ้งและข้อกำหนดเหล่านี้จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการที่ลดผลกระทบต่อโลกมากขึ้น ยั่งยืนขึ้น เช่น CDP (Carbon Disclosure Project), GRI (Global Reporting Initiative), CDSB (Climate Disclosure Standards Board), SASB (Sustainability Accounting Standards Board) หรือการเข้าจัดลำดับ S&P Global และ THSI (Thailand Sustainability Investment)

“สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ อย่างรางวัล THSI จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้น หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น”

แต่ถ้าอยากจะเริ่มต้นลดคาร์บอนเลยตั้งแต่วันนี้ ปรเมศร์แนะนำหลายวิธีที่ง่ายและทำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกกระบวนการทำงาน เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่ง ลองสำรวจดูว่ามีพลังงานไม่จำเป็นส่วนไหนที่ลดการใช้ได้ หรือปรับมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ง่ายกว่านั้นคือ จริงจังกับการรีไซเคิล ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดขยะ และทั้งหมดนี้ยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว  \

มาถึงไฮไลต์ที่หลายคนคงมีคำถามในใจว่า แล้ว SCB จะเดินหน้าสู่เป้า Net Zero อย่างไร ปรเมศร์บอกว่า สำหรับ SCB เรื่องของ Sustainability เป็นค่านิยมหลักขององค์กรอยู่แล้ว พร้อมฉายภาพค่านิยมของ SCB ออกมาให้เห็นเป็น 3 แกนหลัก ได้แก่

S = Sustainable Finance นิยามง่ายๆ คือ การให้สินเชื่อ ให้การลงทุน และออกตราสารหนี้อย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าและการดำรงอยู่ขององค์กรยั่งยืน

C = Creating Social Impact SCB มุ่งสนับสนุนและให้ความรู้ด้าน Finance Literacy และ Finance Inclusion โดยเฉพาะเรื่องของ Finance Inclusion เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสและได้รับการเปลี่ยนแปลง

B = Better Environmental Future แนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการเดินหน้าสู่ Net Zero ไม่ได้ทำแค่ในองค์กร แต่กระจายไปยังมิติอื่นๆ ในสังคม

เป้าหมายด้านความยั่งยืนของ SCB 

  • SCB ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Net Zero ในการดำเนินงานภายในปี 2030 และ Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งรวมถึงสินเชื่อในระบบทั้งหมดจะเป็น Net Zero ซึ่งแรงจูงใจที่ลูกค้าจะได้ เช่น ดอกเบี้ยถูกลง
  • วางงบประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับ Sustainable Finance ทุกส่วน ทั้งเงินกู้ เงินลงทุน ตราสารหนี้ ภายในปี 2025

ปัจจุบัน SCB ดำเนินการด้าน Sustainable Finance ในหลายภาคส่วน เช่น การจับมือกับบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ลงนามความร่วมมือสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียว จำนวน 2 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ หรือการจับมือกับโออาร์ สร้างโมเดลความยั่งยืนให้ SMEs สนับสนุนสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป เปลี่ยนพีทีที สเตชั่น เป็นสถานีรักษ์โลกทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ Canadian Solar ทำโปรเจกต์ Solar Farm แล้วนำพลังงานที่ได้เข้าระบบ

“เราไม่ได้มองเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ แต่มองลูกค้ารายย่อยที่อยากมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกด้วย เรามีโครงการ ‘คุณดูแลโลก เราดูแลคุณ’ ที่ออกโปรดักต์มากมาย เช่น สินเชื่อผู้ประกอบการ Green Loan หรือสินเชื่อบ้าน Green Home Loan หรือการทำแคมเปญกับ BYD ให้สินเชื่อพร้อมข้อเสนอดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นเพียง 1.88% ต่อปี”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ SCB ได้ดำเนินการไปแล้ว ยังมีอีกหลายแคมเปญและหลายโปรดักต์สินเชื่อที่ SCB เตรียมมอบให้กับคนทำธุรกิจที่อยาก Go Green แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ทิศทางการ Go ‘Net Zero’ ของ SCB คงจะชัดเจนมากขึ้น น่าจะตอบโจทย์ธุรกิจที่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโลกและกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ทางการเงินที่ดี

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

Related content

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ